อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1ตั้งอยู่เยื้องหน้าโรงละครแห่งชาติ บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนครโดยมีประวัติความเป็นมาดังนี้ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงนำประเทศเข้าสู่สงครามโดยประกาศร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร โปรดให้ส่งกองทูตทหารออกไปทำการติดต่อกับราชสัมพันธมิตร ณ ทวีปยุโรป ซึ่งมีนายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา) เป็นหัวหน้าทูตทหาร คณะทูตทหารได้ออกเดินทางเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2460 ส่วนทหารอาสาสมัครนั้นได้ออกเดินทางในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2461 เมื่อสงครามสงบ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะจึงเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2462 ในสงครามครั้งนี้มีทหารอาสาเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อบรรจุอัฐิผู้เสียชีวิตและเป็นอนุสรณ์สถานถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไปพร้อมกัน ลักษณะทางสถาปัตยกรรม/ศิลปกรรมที่สำคัญอนุสาวรีย์ทหารอาสาได้รับการออกแบบโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ตัวอนุสาวรีย์เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะแบบศิลปะประยุกต์จากสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัย ซึ่งมีต้นเค้าจากศาสนสถานของชวาภาคกลางที่เรียกว่า จันทิ มีจารึกกล่าวถึงสาเหตุที่ไทยต้องเข้าร่วมสงคราม พร้อมทั้งรายนามผู้เสียชีวิต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีบรรจุอัฐิทหารอาสาที่ฐานอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2462 และโปรดพระราชทานนามเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1ทางราชการได้ถือเอาวันที่ 11 พฤศจิกายน เป็นวันประกอบพิธีวางพวงมาลา อนุสาวรีย์ทหารอาสานั้นอยู่ติดกับบริเวณของท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชากรในแถบพระนคร ทำให้เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ใช้พักผ่อนระหว่างการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมทัศนียภาพของท้องสนามหลวงได้จากจุดนี้ หรือว่าจะเดินทางไปยังจุดหมายต่อไปได้เช่นกัน ข้อมูลการเดินทางมายังอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลดครั้งที่ 1 รถประจำทาง: สาย 1, 3, 7, 9, 15, 25, 30, 32, 33, 39, 70, 80, 82, 91, 203 รถปรับอากาศ: สาย 1, 6, 7, 8, 12, 25, 39, 44, 70, 203 เวลาเปิดทำการ: ทุกวัน 24 ชั่วโมง ค่าเข้าชม: ไม่เสียค่าธรรมเนียม ที่จอดรถส่วนบุคคล: บริเวณโรงละครแห่งชาติ |