ที่เที่ยวอ่างทอง > อำเภอป่าโมก > อนุสาวรีย์นายดอกนายทองแก้ว
อนุสาวรีย์นายดอกนายทองแก้ว
- ป่าโมก อ่างทอง -
รายละเอียดเกี่ยวกับที่เที่ยว
อนุสาวรีย์นายดอกนายทองแก้ว ประดิษฐานอยู่ที่หน้าโรงเรียนวิเศษชัยชาญวิทยาคม (ติดกับวัดวิเศษชัยชาญ) หมู่ 2 ตำบลไผ่จำศีล ตามเส้นทางสายอ่างทอง-วิเศษชัยชาญ ระหว่างกิโลเมตรที่ 26-27 เข้าไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร ซอยปู่ดอก-ปู่ทองแก้ว 16เป็นอนุสรณ์สถานที่ชาววิเศษชัยชาญและชาวอ่างทองร่วมกันสร้าง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของวีรบุรุษแห่งบ้านโพธิ์ทะเล ชาววิเศษชัยชาญ ปู่ดอกและปู่ทองแก้ว ทั้งสองท่านยอมสละชีวิตอย่างกล้าหาญเพื่อปกป้องแผ่นดินไทยในการสู้รบกับพม่าที่ค่ายบางระจันก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกในปี พ.ศ. 2309อนุสาวรีย์แห่งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาทรงเปิดเมื่อ พ.ศ. 2520ประวัติความเป็นมานายดอกและนายทองแก้ว ถือเป็นบุคคลสำคัญในกลุ่มของ 11 วีรชนแห่งชาวบ้านบางระจัน ซึ่งการรบที่บางระจันเป็นการรบเพื่อป้องกันตัวเองของชาวบ้านเมืองสิงห์บุรีและ เมืองต่าง ๆ ที่พานมาหลบภัยกองทัพพม่าที่บางระจันในคราวการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สามารถต้านทานการเข้าตีของกองทัพพม่าได้หลายครั้ง จนได้ชื่อว่า เข้มแข็งกว่ากองทัพของกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น และมีกิตติศัพท์เลื่องลือในด้านวีรกรรมความกล้าหาญในประวัติศาสตร์ไทยโดยในปี พ.ศ. 2307 กองทัพพม่าภายใต้การนำของเนเมียวสีหบดียกมาจากพม่า ซึ่งแต่เดิมแล้วมีภารกิจที่จะปราบปรามกบฏต่ออาณาจักรพม่าเท่านั้น แต่เนื่องจากความอ่อนแอของอาณาจักรอยุธยา เนเมียวสีหบดีจึงตั้งเป้าหมายที่จะเข้าตีกรุงศรีอยุธยาไปด้วยต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2308 กองทัพของเนเมียวสีหบดีรุกเข้าสู่อาณาจักรอยุธยาจากทางเหนือ ได้มาหยุดอยู่ที่เมืองวิเศษชัยชาญ และจัดให้ทหารพม่ากองหนึ่งเที่ยวกวาดต้อนทรัพย์สินและผู้คนทางเมือง วิเศษชัยชาญ ราษฎรต่างพากันโกรธแค้นต่อการกดขี่ข่มเหงของทหารพม่า จึงแอบคบคิดกันต่อสู้ ในเดือน 3 พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี และชาวบ้านใกล้เคียงพากันคบคิดอุบายเพื่อล่อลวงทหารพม่า ทั้งรวบรวมผู้คนไว้เพื่อทำการต่อไป ในบรรดาชาวบ้านที่ร่วมกันอยู่นี้มีหัวหน้าที่สำคัญคือ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง ซึ่งได้หลอกลวงทหารพม่านำไปหาทรัพย์สิ่งของที่ต้องการ ทหารพม่าหลงเชื่อตามไป ก็ถูกนายโชติและพรรคพวกซุ่มอยู่บุกเข้ามาฆ่าฟันพม่าตายประมาณ 20 คน แล้วจึงพากันหนีไปยังบางระจันในเวลานั้นชาวเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงต่างก็เข้ามาหลบอาศัยอยู่ที่บางระจันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ข้าศึกตามเข้าไปได้ยาก ชาวบ้านทั้งหลายจึงพาพรรคพวกครอบครัวอพยพหันมาพึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติ ซึ่งมีกิตติศัพท์ว่ามีความเชี่ยวชาญทางวิทยาคมมาก ต่อมานายแท่นและผู้มีชื่อ อื่นๆ ชักชวนชาวบ้านได้อีกประมาณ 400 คนเศษพากันมาอยู่ที่บ้านบางระจัน หลังจากนั้นก็ตั้งค่ายขึ้นล้อมรอบบ้านบางระจัน 2 ค่าย เพื่อป้องกันทหารพม่าที่จะยกติดตามมาและเพื่อจัดหากำลังและศัตราวุธในแถบตำบลนั้น นอกจากนี้มีคนไทยชั้นหัวหน้าที่เข้ามาร่วมด้วยอีก 7 คน คือ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ นายดอก และนายทองแก้ว รวมหัวหน้าที่สำคัญของค่ายบางระจันครั้งนั้นรวม 11 คน ตั้งซ่องสู้กับกองทัพพม่าวีรกรรมอันกล้าหาญชาญชัยของนักรบไทยค่ายบางระจันสมัยนั้น เป็นที่ภาคภูมิใจและประทับอยู่ในความทรงจำของคนไทยทุกคนตลอดมาประชาชนชาวเมืองอ่างทองจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายดอก และนายทองแก้วไว้ที่บริเวณวัดวิเศษชัยชาญอำเภอวิเศษชัยชาญ โดยที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2520 ดังนั้นในวันที่ 25 มีนาคมของทุกปี ชาวเมืองอ่างทอง จึงได้กระทำพิธีวางมาลาสักการะอนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดี ในวีรกรรมความกล้าหาญของท่านเป็นประจำทุกปี
ที่เที่ยวใกล้เคียง
โรงแรมใกล้เคียง