ที่เที่ยวปทุมธานี > อำเภอคลองหลวง > วัดฉาง
วัดฉาง
หมู่ที่ 6 ต.บ้านฉาง คลองหลวง ปทุมธานี 12000
รายละเอียดเกี่ยวกับที่เที่ยว
วัดฉาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ต.บ้านฉาง จ.ปทุมธานี อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งเดียวกับตัวจังหวัดและศาลากลาง ห่างจากจังหวัดลงไปทางใต้ประมาณกิโลเมตรเศษ และห่างจาก อ.สามโคกราว 6 ก.ม. ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2434 ภายในมีถาวรวัตถุและโบราณวัตถุที่น่าดูชมหลายอย่างตามการสันนิษฐานคาดว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยพวกมอญเมืองเมาะตะมะ สาเหตุที่พวกมอญอพยพลงมาครั้งนั้นก็เพราะพระเจ้าปะดุงกษัตริย์พม่า ได้แต่งตั้งชาวพม่าคนหนึ่งเป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ คนผู้นี้เบียดเบียนชาวมอญให้ได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจอยู่เนืองๆ แต่พวกมอญไม่มีกำลังจะต่อสู้ได้ ชาวมอญที่เป็นเจ้าเมืองและกรรมการหลายคน อันมีสมิงสอดเบาเป็นหัวหน้า จึงปรึกษาพร้อมใจกันอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในพระอาณาจักรไทยโดยความผาสุกครั้นถึงปีกุน พ.ศ. 2358 พวกมอญเมาะตะมะถูกพม่ากดขี่ข่มเหงมากขึ้น จึงพร้อมใจกันจับเจ้าเมืองพม่าฆ่าตายเสีย แล้วอพยพเข้ามาในพระราชอาณาจักร ทางเมืองตากบ้าง อุทัยธานีบ้าง แต่โดยมากจะเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เข้าแขวงเมืองกาญจนบุรี จึงโปรดให้กรมพระราชวังสถานมงคลเสด็จขึ้นไปคอยรับครอบครัวมอญอยู่ที่เมืองนนทบุรี จัดหาจากมุงหลังคา และไม้สำหรับปลูกสร้างบ้านเรือนเมื่อครอบครัวมอญมาถึงเมืองนนทบุรีจำนวนสี่หมื่นคนเศษ โปรดให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแขวงเมืองปทุมธานีบ้าง เมืองนนทบุรีบ้าง สมิงสอดเบาที่เป็นหัวหน้านั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นพระยารัตนจักร ตัวนายรามัญที่เป็นผู้ใหญ่มียศอยู่ในเมืองเดิม ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นพระยาทุกคนสันนิษฐานว่าพวกมอญได้อพยพลงมาอยู่ใน ต.บ้านฉาง ประกอบกับทางราชการได้จัดตั้งฉางขึ้นมาเพื่อสำหรับสะสมเก็บข้าวเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ไว้ต้อนรับพวกมอญที่อพยพเข้ามา จึงตั้งชื่อที่อยู่นี้ว่า บ้านฉาง ครั้นปี พ.ศ. 2360 มีชาวมอญได้อพยพมาอยู่รวมกันมากขึ้นจึงได้สร้างวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลตามประเพณี และตั้งชื่อว่า วัดฉาง ตั้งแต่นั้นสืบมา
ที่เที่ยวใกล้เคียง
โรงแรมใกล้เคียง