ในพุทธศักราช 2539 อันเป็นมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงดำรงสิริราชสมบัติครบ 50 ปี รัฐบาลได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษกซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่จะดำเนินการรวบรวมเอกสารจดหมายเหตุ ที่เกี่ยวเนื่องในพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ มาจัดเก็บและอนุรักษ์ไว้ตามระบบมาตรฐานงานจดหมายเหตุ เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรจัดทำโครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นอนุสรณ์สถานในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พุทธศักราช 2540 และได้รับพระราชทานชื่อว่า หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคาร เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พุทธศักราช 2540 บนพื้นที่ 75 ไร่ ริมคลองห้า ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
เอกสารจดหมายเหตุเป็นมรดกทางวัฒนธรรมลักษณะเดียวกันกับโบราณสถานและโบราณวัตถุ แต่มีความแตกต่างกันที่เป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสารซึ่งถูกบันทึกอยู่ในรูปของวัสดุต่าง ๆ เช่น ตัวอักษร ภาพวาด ภาพถ่าย ลายเส้น เสียง และภาพเคลื่อนไหว ที่บันทึกลงบนกระดาษในรูปของเอกสาร เช่น หนังสือ, แผนที่, แผนผัง, หรือการสื่อสารที่บันทึกในแถบแม่เหล็ก แผ่นครั่ง แผ่นโลหะ และเครื่องมืออิเลคทรอนิกส์ เช่น แผ่นเสียง, เทปเสียง, เทปวีดิทัศน์, CD-R, DVD-R, SD Card, MD Card, Data Tape เป็นต้น เอกสารและโสตทัศน วัสดุต่าง ๆ เหล่านี้ บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานทั้งภาครัฐและเอกชน บันทึกผลการดำเนินงานและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งเป็นหลักฐานชั้นต้นที่นำไปใช้อ้างอิงและวิเคราะห์ได้ในทุกสาขาวิชา เป็นคลังปัญญาที่มีค่าต่อหน่วยงานราชการและประชาชน |